อยากเปลี่ยนสีรถ แต่ไม่อยากพ่นสีรถใหม่ทั้งคัน การทำ Wrap เปลี่ยนสีรถ จึงเป็นอีกทางเลือก แล้วถ้า Wrap สีรถแล้วจะผิดกฎหมายหรือไม่ มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ในวันนี้เรามาหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลยครับ
Wrap Car คือการนำฟิล์ม PVC (Polyvinylchloride) มาห่อหุ้มตัวรถ โดยตัวฟิล์มจะมีความยืดหยุ่นได้น้อย ต้องใช้ความร้อนเพื่อให้สามารถยืดตัว มีให้เลือกหลากแบบหลายสี ทั้งแบบเงา เมทัลลิก แบบด้าน และแบบประกายแสง นอกจากนี้ก็ยังมีแบบกระป๋องสเปรย์ที่เรียกว่า Elastic Dip เมื่อฉีดจะกลายเป็นฟิล์มสีเคลือบตัวถัง ที่สามารถลอกออกได้ง่ายโดยที่ไม่ทำลายสีรถแต่อย่างใด
ข้อดี การ Wrap สีตัวถังนั้นมีข้อดีคือ สามารถเปลี่ยนสีรถได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนสีพื้นเดิม อีกทั้งยังคงเส้นสายของตัวถังไว้อย่างสวยงาม ประกอบกับตัวฟิล์มยังทำหน้าที่ในการป้องกันสิ่งสกปรก รอยขนแมว ขี้นก เกสรดอกไม้ และเมื่อเสื่อมสภาพก็สามารถลอกออกได้
ข้อเสีย เนื่องจากฟิล์ม PVC จะมีด้วยกันหลายเกรด หลายราคา ซึ่งหากติดฟิล์มราคาถูก ๆ กาวคุณภาพต่ำ ก็สามารถสร้างความเสียหายต่อสีและสารเคลือบตัวถังได้ การติดก็ต้องใช้ฝีมือช่างที่มีประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างสูง ต้องใช้ทักษะในการเก็บรอยให้เรียบเนียนไร้ฟองอากาศ จึงทำให้ราคาการ Wrap สีตัวถังแพงพอ ๆ กับการทำสีใหม่ นอกจากนี้ยังจะมีอายุการใช้งานครั้งละประมาณ 2-3 ปี ซึ่งเมื่อถึงอายุการใช้งาน จะต้องกลับเข้าไปเปลี่ยนและทำการหุ้มใหม่ทั้งคันอีกครั้งหนึ่ง
• Car Wrap ผิดกฎหมายไหม? การ Wrap สีรถนั้น ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะ Wrap สีตัวถังทั้งคัน หรือส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่จะต้องทำให้ถูกต้องนั่นก็คือ ไปแจ้งกับกรมขนส่งทางบกภายใน 7 วัน หลังจากที่ไปเปลี่ยนสีรถยนต์ เหตุผลที่ต้องไปแจ้งนายทะเบียนทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนสีตัวถังใหม่ เนื่องจากเป็นการป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ อาทิ การขับรถเฉี่ยวชน การสวมรอยก่ออาชญากรรม การขนยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย หรือแม้แต่ป้องกันรถถูกขโมย แล้วถูกแปรสภาพเป็นสีอื่น หรือแกะ Wrap ออกจนเป็นสีเดิมจนไม่สามารถแกะรอยได้
แต่สำหรับใครที่ Wrap สีรถน้อยกว่า 20% ของสีตัวถังเดิม เช่น แต่งสีแค่ฝากระโปรงหน้า ฝาท้าย หรือประตูข้าง ก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งกรมขนส่งฯ นะครับ
Comments